ทำไมองค์กรรุ่นใหม่ จึงมีงานลักษณะเป็นโครงการมากขึ้น
งานลักษณะโครงการ หรือ Project-Based คืองานที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เป็นภารกิจพิเศษ ที่ไม่ใช่งานประจำ และต้องส่งมอบงานได้ ตามขอบเขตงาน ภายใต้กำหนดเวลา งบประมาณ และคุณภาพที่คาดหวัง หรืออาจจะเรียกงานลักษณะ Project-Based ที่ต้องทำภารกิจพิเศษนี้ว่า Mission-Based
หลายองค์กร มีลักษณะงานส่วนใหญ่เป็น Project-Based อยู่แล้ว เช่น บริษัทไอที ที่ต้องพัฒนา Application ให้ลูกค้าเป็นรายโครงการ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ต้องสร้างบ้านให้ลูกค้าเป็นรายโครงการ บริษัทรับจ้างจัดงาน Organize และ Event ต่างๆ หรือ บริษัทวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เป็นต้น เราเรียกองค์กรประเภทนี้ว่า “Project-Based Organization”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลักษณะงานขององค์กร มีลักษณะเป็นงาน Project-Based มากขึ้น และ 6 เหตุผลที่ทำให้ องค์กรรุ่นใหม่ มีลักษณะงานเป็นโครงการมากขึ้น มีดังนี้
1. ธุรกิจมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
การแข่งขันที่รุนแรง ทำให้หลายธุรกิจ จำเป็นต้องพัฒนางานของตัวเอง โดยการ ปรับปรุงประสิทธิภาพงาน ลดต้นทุนการทำงาน คิดค้นสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในกรแข่งขัน หรือ Competitive Advantage และสิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดงานโครงการขึ้นมากมายในองค์กร จนอาจจะกล่าวได้ว่า ธุรกิจที่ขาดความสามารถในการบริหารโครงการ ก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุด
2. มีกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ มากขึ้น
กฎระเบียบข้อบังคับ ที่เกิดขึ้นใหม่ กำหนดให้องค์กรต้องปรับการทำงาน ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ส่งผลให้องค์กร จำเป็นต้องจัดตั้ง เป็นงานโครงการ หรือภารกิจพิเศษ เพื่อ Comply ตามกฎหมายใหม่ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
3. เกิดภัยคุกคามใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว
ภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ เช่น ภัยคุกคามด้าน Cyber Security หรือ ภัยคุกคามจากโรคระบาด หรือ ภัยธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งภัยคุกคามจากการ Disruption ของธุรกิจ จากการเข้ามาของ สินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่าง รวดเร็ว ต่อเนื่อง ด้วยความถี่ที่มากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ เทียบกับอดีตที่ผ่านมา ส่งผลให้องค์กร ต้องปรับตัว ให้อยู่รอดได้ภายใต้ ภัยคุกคามเหล่านี้ โดยการจัดตั้งงานโครงการใหม่ๆ ที่เป็นลักษณะภารกิจพิเศษ ที่องค์กรไม่เคยทำมาก่อน
4. ลูกค้ามีความต้องการและความคาดหวังมากขึ้น
ในยุดปัจจุบัน ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ความต้องการของลูกค้า มีความซับซ้อน มากขึ้น ลูกค้าคาดหวังสินค้า และ บริการที่ดี มีคุณภาพ ราคาย่อมเยา ส่งมอบได้รวดเร็ว องค์กรมีความจำเป็นต้อง คิดค้น และปรับปรุงการทำงานอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า ส่งผลให้องค์กร ต้องจัดตั้งโครงการต่างๆ ออกมามากมาย เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ ให้ลูกค้าพึงพอใจ
5. มีการนำ นวัตกรรม และ เทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจมากขึ้น
การนำ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน และส่งผลโดยตรง ให้องค์กรต้องจัดตั้งโครงการ เพื่อนำเทคโนโลยี มาใช้ในองค์กร เช่น โครงการพัฒนาระบบไอที เพื่อใช้งานในธุรกิจ โครงการติดตั้งเครื่องจักรเครื่องกล เพื่อใช้ในโรงงาน เป็นต้น โครงการเหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปี และยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ตามการเกิดขึ้นของ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ
6. เกิดกระแส คนทำงาน นิยมเปลี่ยนจากการทำงานเป็นลูกจ้างประจำ มาเป็นรับงานรายโครงการ
คนทำงานในยุคใหม่ นิยมรับจ้างทำงานให้องค์กร เป็นแบบงานโครงการ มากขึ้น เพื่อความยืดหยุ่นในเรื่องการเข้างานตามเวลา และองค์กรในยุคใหม่ก็ยินดีจ้างงาน คนทำงาน ในลักษณะงานโครงการ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผูกพัน จากการจ้างพนักงานประจำ และเพิ่มความคล่องตัว ในการเปลี่ยนคนทำงาน เมื่อองค์กรต้องการคนทำงานที่มีทักษะเปลี่ยนไปจากเดิม ด้วย 2 สาเหตุดังกล่าว ทำให้องค์กร ต้องปรับเปลี่ยนงานประจำในองค์กรของตนเอง ให้บริหารในรูปแบบของงานโครงการ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย และกรอบเวลาของงานให้ชัดเจน เพื่อมอบหมายเป็นภารกิจ ให้กับคนทำงาน ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ หลายๆองค์กร มีงานในลักษณะงานโครงการ เพิ่มขึ้น
จากเหตุผลทั้ง 6 ข้อ ข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ทั้งองค์กร และ คนทำงาน ต้องมีการปรับตัว เตรียมความพร้อม และสร้างทักษะในเรื่องการบริหารโครงการ หรือ Project Management Skill เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น องค์กรใดที่ขาดทักษะด้านการบริหารโครงการ ก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุด และในทำนองเดียวกัน คนทำงานที่ขาดความสามารถในการบริหารโครงการ ก็อาจจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ในยุคปัจจุบัน ที่การแข่งขันรุนแรง มากขึ้นเรื่อยๆ
บทความโดย อาจารย์ ไพบูลย์ ปัญญายุทธการ (PMP)
Knowledger Co.,ltd.
www.knowledgertraining.com