การบริหารโครงการ ในองค์กรที่เป็น Silo Culture 

ในบทความที่แล้ว ผมได้อธิบายถึง ลักษณะของ Silo Culture หรือ วัฒนธรรมการทำงานแบบ ไซโล ไปแล้ว ในบทความนี้ ผมจะอธิบายถึง แนวทาง การปรับตัว และรับมือ หากท่านต้อง เป็น Project Manager ที่ ทำงาน ในองค์กร ที่มีวัฒนธรรมการทำงาน แบบ Silo Culture  เพื่อให้โครงการของเรา ดำเนินการไปได้ สำเร็จตามเป้าหมาย

อย่างที่ทราบกันว่า Silo Culture เป็นอุปสรรคสำคัญ อันดับต้นๆ ของการพัฒนาการบริหารโครงการ ในองค์กร เนื่องจาก Silo Culture จะทำให้การประสานงานของงานโครงการ ล่าช้า รวมถึง Project Manager มักจะขาดอำนาจอย่างเป็นทางการ ในการสั่งการทีมงานโครงการ เนื่องจาก องค์กรยังกำหนดให้ ผู้จัดการของฝ่ายงานต่างๆ มีอำนาจในการสั่งการเจ้าหน้าที่ในฝ่ายงานของตนเอง ถึงแม้ว่า จะถูกมอบหมายไปทำงานในโครงการแล้วก็ตาม แนวทางการ รับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว หากท่านต้องเป็น Project Manager ในองค์กรที่เป็น Silo Culture มีดังนี้    

1. เรียนรู้ กฎระเบียบ  ข้อกำหนด และกระบวนการต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายงานกำหนดเอาไว้ สำหรับการ สื่อสาร ประสานงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ให้ชัดเจน และเตรียมการณ์ล่วงหน้า เพื่อปฏิบัติตามกระบวนการดังกล่าว เพื่อลด หรือบรรเทาปัญหา ที่จะทำให้โครงการล่าช้า อันเนื่องมาจาก การประสานงาน ที่ผิดพลาดและล้มเหลว จนต้องทำให้เกิดการทำงานซ้ำ 

2. นำเสนอผู้บริหารขององค์กร เพื่อขอให้กำหนดเป้าหมาย หรือ KPI ของโครงการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของ เป้าหมาย หรือ KPI ของแต่ละฝ่ายงาน ที่เข้ามาร่วมในโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่า ทีมงานในโครงการ จะใส่ใจ และทุ่มเทกับงานโครงการ และสนใจเป้าหมายหลักของโครงการ เนื่องจาก เป็นส่วนหนึ่งของ เป้าหมาย หรือ KPI ของงานในฝ่ายงานของตนเอง

3. Project Manager ต้องพยายาม สร้าง Informal Power หรือ อำนาจอย่างไม่เป็นทางการ ในการสั่งการ ทีมงานโครงการ ตัวอย่างเช่น การสร้างอำนาจ จากความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงานโครงการ  การสร้างอำนาจ จากความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับจากผู้บริหาร  โดยในหัวข้อนี้ ผู้อ่านสามารถ อ่านรายละเอียดได้ จากบทความก่อนหน้านี้ ในเรื่อง แนวทางการสร้าง Informal Power ในการบริหารโครงการ https://www.knowledgertraining.com/index.php?tpid=0240

4. Project Manager ต้องบริหารความขัดแย้งในโครงการ โดยส่งเสริมให้ทีมงาน สนใจ และมุ่งมั่นในเป้าหมายของโครงการ มากกว่าจะปกป้องผลประโยชน์เฉพาะฝ่ายงานตนเอง รวมถึง Project Manager ต้องเป็น ตัวอย่างที่ดี ในการประสานงาน และจัดการความขัดแย้ง เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย 

จาก แนวทาง ทั้ง 4 ข้อข้างต้นนั้น เป็นวิธีรับมือ และปรับตัวเข้าหาองค์กร ที่มีวัฒนธรรมการทำงาน แบบ Silo Culture เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ สำเร็จตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารโครงการ ในสิ่งแวดล้อมที่เป็น Silo Culture ย่อมต้องใช้ความพยายาม มากกว่าองค์กรที่มีแนวทางการทำงาน แบบ Cross Function ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือ หน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาการบริหารโครงการให้กับองค์กร เช่น PMO ควรพิจารณา ปรับเปลี่ยน โครงสร้างองค์กร ให้เป็น Matrix Organization หรือ สร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่เน้นการทำงานแบบ Cross Function เพื่อสนับสนุน ให้โครงการมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

บทความโดย  อาจารย์ ไพบูลย์ ปัญญายุทธการ (PMP)
Knowledger Co.,ltd.
www.knowledgertraining.com