การเข้าใจ วัฒนธรรมองค์กร คือสิ่งจำเป็นในการ บริหาร Stakeholder ในโครงการ
คำว่า Stakeholder หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนั้น หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ หรือสามารถสร้างผลกระทบให้โครงการได้ และมักจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับโครงการ เพื่อเพิ่มส่วนได้ และลดส่วนเสียของตัวเอง โดยบุคคลหรือ กลุ่มบุคคลดังกล่าว มักจะมาพร้อมความคาดหวัง และระดับอำนาจที่แตกต่างกัน การบริหารจัดการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ คือการบริหารความคาดหวังของเขาเหล่านั้น เพื่อให้โครงการได้รับการสนับสนุน จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
การบริหาร Stakeholder ในโครงการนั้น ผู้บริหารโครงการ หรือ Project Manager จำเป็นต้อง เข้าใจ วัฒนธรรมองค์กร ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในโครงการ เพื่อให้สามารถ คาดเดา วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีการตัดสินใจ ต่างๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวเข้าหา Stakeholder ต่างๆ และ ที่สำคัญที่สุด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และการสนับสนุน จากผู้มีอำนาจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก โดยในบทความนี้ จะขอแนะนำ 5 หลักการ ง่ายๆ ขั้นพื้นฐาน ในการเรียนรู้ และเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้สามารถ บริหารโครงการ ให้ได้รับการสนับสนุน จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ได้ ดังนี้
1. ค้นหาวัฒนธรรมหลักของ Stakeholder ในโครงการ เป็นขั้นตอนสำคัญ ขั้นตอนแรก ที่เราต้องค้นหาให้พบ ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการของเรานั้น มีวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีการตัดสินใจ และวัฒนธรรมการทำงาน แบบใด เช่น เราไปทำงานในโครงการ ที่มีผู้เกี่ยวข้อง เป็น คนไทย หรือ ชาวญี่ปุ่น หรือ ชาวตะวันตก หรือ องค์กรภาคเอกชน หรือ องค์กรภาครัฐ เหล่านี้ ย่อมมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันไป โดยวัฒนธรรมหลัก ของผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการ มักจะเป็นไปตาม คนส่วนใหญ่ในโครงการ หรือ เป็นไปตามผู้มีอำนาจในโครงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ผู้จัดการโครงการ หรือ Project Manager ต้องค้นหาให้พบ
2. เคารพ ในวิธีคิด และ พฤติกรรม ที่แตกต่างจากประสบการณ์ของเรา อย่าตัดสินว่า วิธีคิด หรือพฤติกรรมใด ที่แตกต่างจากความเชื่อของเรา เป็นสิ่งที่ผิด จงเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่าง เพราะทุกๆวัฒนธรรม ต่างก็มีข้อดี และข้อเสีย ในตัวเอง บางองค์กรมีวัฒนธรรมที่ ทำงานอย่างมีวินัย และตรงเวลา เหมือนคนญี่ปุ่น บางองค์กรเน้นเรื่องการส่งมอบงาน ตามเป้าหมายให้ได้ โดยไม่เคร่งครัดเรื่องเวลาในการทำงานมากนัก หรือบางองค์กรชอบวิธีการสื่อสารกันอย่างมืออาชีพ และตรงไป ตรงมา เหมือนฝรั่งชาวตะวันตก แต่บางองค์กร ก็จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบบ ถ้อยที ถ้อยอาศัย และเป็นมิตรแบบคนไทย ทุกวัฒนธรรม ย่อมมีข้อดี และข้อเสีย ในตัวเอง หากเราไปตัดสินว่า วัฒนธรรมใดถูก หรือ วัฒนธรรมใดผิด มันก็คือการเริ่มต้น สร้างอุปสรรคให้กับตัวเราเอง ในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรม เหล่านั้น
3. เรียนรู้ที่จะใช้จุดเด่น ของแต่ละวัฒนธรรม มาสร้างเป็นข้อได้เปรียบ ในการทำงานในโครงการของเรา เช่น ใช้ความมุมานะ และตรงต่อเวลา ของวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น มาช่วยผลักดันให้งานลุล่วงตามเป้าหมาย ใช้วิธีการสื่อสารกันอย่างมืออาชีพ และตรงไป ตรงมา เหมือนฝรั่งชาวตะวันตก มาใช้ในการค้นหาสาเหตุของปัญหา เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา หรือใช้ความเป็นมิตร ถ้อยที ถ้อยอาศัย แบบคนไทย มาช่วยบริหารจัดการ ความขัดแย้งในทีมงาน เป็นต้น
4. ระมัดระวัง วางแผนรองรับ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงการของเรา ที่เกิดจาก จุดด้อยของแต่ละวัฒนธรรม เนื่องจาก ทุกวัฒนธรรมการทำงาน ย่อมมีทั้ง จุดเด่น และ จุดด้อย เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะระมัดระวัง จุดด้อยต่างๆ ของแต่ละวัฒนธรรมการทำงาน เช่น หากทีมงานมุมานะ ทำงานหนัก จนเกินไป ก็ต้องระมัดระวัง เรื่องความเครียดในการทำงาน หรือ หากทีมงาน สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ในเรื่องที่อาจจะกระทบต่อความรู้สึก ของผู้ร่วมงาน ก็ต้องระมัดระวัง เรื่อง ความขัดแย้งในทีมงาน เป็นต้น
5. หมั่นผูกมิตร และ หาแนวร่วม เนื่องจาก การทำงานร่วมกันในโครงการนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องอยู่บนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล ซึ่งจะทำได้ง่ายขึ้น หากเรา เข้าใจ และปรับตัว เข้ากับ วัฒนธรรมการทำงานของเขาเหล่านั้นได้ และจะส่งผลให้เรา สามารถ เข้าใจวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ความต้องการ และความคาดหวัง ของ Stakeholder ในโครงการได้
บทความโดย อาจารย์ ไพบูลย์ ปัญญายุทธการ (PMP)
Knowledger Co.,ltd.
www.knowledgertraining.com