8 บทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน PMO ระดับเริ่มต้น
ในบทความก่อนหน้า ผู้เขียนได้เขียนบทความแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับหน่วยงาน Project Management Office หรือ PMO ไปแล้ว และได้อธิบายถึงปัจจัยความสำเร็จและอุปสรรคในการจัดตั้งหน่วยงาน PMO ในบทความนี้ จะขอแนะนำบทบาทหน้าที่ของ PMO ซึ่งโดยทั่วไป บทบาทหน้าที่ของ PMO ในแต่ละองค์กร จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น PMO ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจสำหรับโครงการใดโครงการหนึ่งก็จะมีหน้าที่หลักๆ ในการกำกับดูแลโครงการนั้น ให้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหากเป็น PMO ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาภายใต้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น PMO ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาภายใต้หน่วยงานไอที และขึ้นตรงกับ CIO ก็จะมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงการทั้งหมดภายใต้หน่วยงานไอที หรือหากเป็นกรณีที่ PMO ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดย CEO ก็จะมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงการทั้งหมดในองค์กรและมักจะเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรในการ กำกับดูแลโครงการเชิงกลยุทธ์ทั้งหมดขององค์กร แต่ไม่ว่า PMO จะขึ้นตรงกับหน่วยงานใดนั้น บทบาทหน้าที่หลักก็ยังคงเป็นการกำกับดูแล (Governance) โครงการ ในบทความนี้จะขออธิบายบทบาทหน้าที่ของ PMO ตามระดับการพัฒนา ซึ่งจะขอแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ PMO ที่ถูกก่อตั้งมาไม่นานและอยู่ในระดับเริ่มต้น กับ PMO ที่ถูกก่อตั้งมานานและอยู่ในระดับการพัฒนาสูง
เมื่อองค์กรได้ตัดสินใจก่อตั้งหน่วยงาน PMO ขึ้นมาแล้ว โดยทั่วไป ผู้บริหารจะร้องขอให้ หัวหน้าหน่วยงาน PMO จัดทำ PMO Roadmap หรือลำดับกิจกรรมที่ PMO จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 3-5 ปี และบทบาทหน้าที่ลำดับต้นๆของ PMO ที่ถูกก่อตั้งมาใหม่ๆ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ต่อไปนี้
-
กำหนดมาตรฐาน กระบวนการ เครื่องมือ และเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ ในการบริหารโครงการ เพื่อใช้ในการบริหารโครงการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน กิจกรรมนี้ มักจะเป็นกิจกรรมแรกที่ PMO จะดำเนินการ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้การบริหารโครงการเป็นมาตรฐานแล้ว ยังช่วยทำให้ PMO สามารถติดตามโครงการได้ง่าย รวมถึงถ่ายโอนงานกันระหว่างโครงการได้ง่าย เนื่องจากทุกโครงการมีกระบวนการ เครื่องมือ และเอกสารแบบฟอร์มเดียวกัน สิ่งที่ PMO จะต้องระวังในเรื่องนี้คือ ต้องบังคับใช้มาตรฐานเท่าที่จำเป็น โดยพิจารณาบังคับใช้เครื่องมือการบริหารโครงการเพียงไม่กี่เครื่องมือ แต่ต้องลดปัญหาส่วนใหญ่ขององค์กรได้
-
สื่อสาร สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารโครงการ และจัดฝึกอบรมเพื่อให้ผู้บริหารโครงการทราบถึงแนวปฏิบัติตามมาตรฐาน กระบวนการบริหารโครงการ รวมถึงวิธีการใช้เครื่องมือและแบบฟอร์มต่างๆ ในการบริหารโครงการ กิจกรรมนี้คือการพัฒนาทักษะของ Project Manager ในองค์กร เพื่อให้เข้าใจวิธีการใช้เครื่องมือและมีทักษะในการบริหารโครงการ
-
ตรวจสอบ กำกับ ดูแล การบริหารโครงการให้ประสบความสำเร็จ ส่งมอบประโยชน์ที่องค์กรคาดหวัง และเป็นไปตามมาตรฐานกระบวนการบริหารโครงการ กิจกรรมนี้คือ การตรวจติดตาม การปฏิบัติตามกระบวนการบริหารโครงการ ที่ PMO ประกาศบังคับใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกโครงการ ปฏิบัติตามกระบวนการที่ดี
-
ติดตามความคืบหน้าโครงการและสรุปผลสถานะโครงการต่างๆในภาพรวม เพื่อรายงานผู้บริหาร กิจกรรมนี้ PMO ต้องออกแบบ รูปแบบการรายงาน หรือ Project Dashboard เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงสถานะของโครงการทั้งหมดภายใต้การกำกับดูแลของ PMO
-
ให้คำแนะนำ และคำปรึกษา กับผู้บริหารโครงการ ในการใช้เครื่องมือการบริหารโครงการ กระบวนการบริหารโครงการและการแก้ไขปัญหาในโครงการ เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ ส่งมอบประโยชน์ที่องค์กรคาดหวัง
-
ปรับปรุง พัฒนา มาตรฐาน กระบวนการ เครื่องมือ และเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ ในการบริหารโครงการ ให้เป็นปัจจุบัน มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทขององค์กร กิจกรรมนี้ มักจะเกิดขึ้นหลังจาก PMO ประกาศบังคับใช้ มาตรฐานกระบวนการบริหารโครงการไปแล้ว ระยะหนึ่ง และ นำผลการปฏิบัติงานมาปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น
-
จัดเก็บ ข้อมูล เอกสาร ต่างๆในการบริหารโครงการ และควบคุมการเข้าถึง ควบคุมเวอร์ชั่น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการสื่อสารในโครงการ กิจกรรมนี้ PMO จะทำหน้าที่คล้าย Configuration Manager ของโครงการ ซึ่งต้องมีการออกแบบตารางจัดเก็บชื่อโครงการ และชื่อเอกสารต่างๆของโครงการให้เข้าใจตรงกัน และง่ายในการสื่อสาร (Naming Convention)
-
ประสานงาน เพื่อผู้บริหารโครงการ ในหลายๆโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกัน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และทำงานประสานกัน เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ โดยทั่วไปสำหรับองค์กรขนาดใหญ่จะมีโครงการหลายๆโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ต้องส่งมอบงานให้กันและกัน ต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นต้น และบ่อยครั้งที่ Project Manager แต่ละโครงการไม่ได้มีการสื่อสารกัน ทำให้โครงการเกิดปัญหา ดังนั้น PMO จึงต้องทำหน้าที่ประสานงานให้ Project Manager แต่ละโครงการ มีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และประสานงานกัน
บทบาท 8 ประการข้างต้น เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ให้คำปรึกษาหรือบรรยาย ให้กับองค์กรที่ต้องการจะก่อตั้งหน่วยงาน PMO ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มต้น ในบทความต่อไป ผู้เขียนจะนำเสนอถึง บทบาทหน้าที่ ของหน่วยงาน PMO ที่ก่อตั้งมานานและมีระดับการพัฒนา ในระดับสูง
อาจารย์ อรินทรา ปัญญายุทธการ (PMP)