9 เทคนิคพิชิตการสอบ PMP ได้ในครั้งแรก (สำหรับผู้ทำงานประจำ)

            ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า นวัตกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้บริหารโครงการนั้นจะต้องมีองค์ความรู้ในหลายๆด้าน และประกอบกับการตัดสินใจที่ถูกต้องเพื่อใช้ทรัพยากรและเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้โครงการสำเร็จลุล่วงตามจุดประสงค์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารโครงการควรมีใบประกาศนียบัตร Project Management Professional (PMP) ซึ่ง PMP เป็น Certification ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในวงการ Project Management ทั่วโลก โดย PMP เป็นใบประกาศนียบัตรที่ออกให้โดย Project Management Institute (PMI) ที่เป็นที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง Project Management จากหลายประเทศทั่วโลก ผู้ที่มีใบประกาศนียบัตร PMP นั้นจะได้รับความน่าเชื่อถือเพราะเข้าใจองค์ประกอบการบริหารโครงการในทุกๆด้าน และมีแนวทางในการบริหารโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ดังนั้น เพื่อให้ได้ PMP มาครอบครองผมจึงขอเสนอเทคนิคในการพิชิตการสอบ PMP โดยเขียนจากประสบการณ์ตรงที่ผมใช้ในการเตรียมตัวสอบดังนี้ครับ

1)  เตรียมพร้อมความรู้
เนื่องจากการสอบ PMP นั้นมีเนื้อหาใน PMBOK มากมายและต้องมีความเข้าใจในทุกๆ Knowledge Area เป็นอย่างดี ดังนั้นในขั้นตอนแรกนี้ควรเตรียมความรู้ในภาพรวมของเนื้อหาจากการอ่านหนังสือที่เข้าใจง่ายและเห็นภาพรวม อย่างหนังสือที่แนะนำคือ Head First PMP’s O'Reilly ซึ่งเป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจง่ายและให้ภาพรวมได้ดี
2)  ลงหลักสูตรเตรียมสอบเพื่อทบทวน
เมื่อเราเข้าใจภาพรวมของเนื้อหาแล้วว่ามีกี่ Knowledge Area และใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างแล้ว เราก็ควรที่จะเติมเต็มในรายละเอียดของเนื้อหาแต่ละส่วนให้ครบถ้วนโดยอ่านจากหนังสือ PMBOK หรือเพื่อความรวดเร็วก็สามารถลงเรียนหลักสูตรเตรียมสอบ PMP ของ “Knowledger” ได้ เพื่อวัตถุประสงค์คือ ให้เกิดความมั่นใจว่าแต่ละ Knowledge Area นั้นเราเข้าใจถูกต้อง และได้รับการอธิบายเนื้อหาโดยสรุปในประเด็นสำคัญต่างๆของ PMBOK ทำให้เนื้อหาบางส่วนที่ยังเข้าใจไม่ครบถ้วนเราจะได้รับการอธิบายและตอบข้อสงสัย พร้อมทั้งเทคนิคต่างๆในการจำและทำความเข้าใจ รวมถึงแนวข้อสอบที่จะต้องฝึกฝนและอ่านเพิ่มเติม
3)  จัดตารางเตรียมตัวสอบฃเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือ วินัยในการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ โดยส่วนตัวผมใช้วิธีการกำหนดจำนวนชั่วโมงในแต่ละวันที่ควรจะอ่านหนังสือ และตั้งเป้าหมายของเนื้อหาที่ควรจะอ่านให้จบในแต่ละวัน จะทำให้เราประเมินเนื้อหาและจำนวนเวลาที่จะต้องอ่านในแต่ละวันได้และรู้ว่าจะอ่านทั้งหมดจบได้เมื่อไหร่ โดยการอ่านในแต่ละสัปดาห์จะแบ่งเป็น วันจันทร์ถึงวันเสาร์จะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงแรกทบทวนสิ่งที่อ่านมาแล้วจากวันก่อน จากนั้นจึงเริ่มอ่านเนื้อหาที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้และหลังจากอ่านจบใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมงสำหรับสรุปความรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้รู้เพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือในวันนั้น ทำเป็นประจำในทุกๆวัน เราจะได้ทบทวนเนื้อหาอยู่เสมอ เมื่อถึงวันอาทิตย์จะเป็นการสรุปเนื้อหาทั้งหมดที่ได้อ่านมาตั้งแต่ต้น โดยการ review เนื้อหาที่ได้ทำ Highlight ไว้ และ Note ย่อ ที่เราได้จดบันทึกไว้  จากนั้นลองทำข้อสอบเพื่อทบทวนเนื้อหาที่เราได้อ่านไปแล้วนั้นได้คะแนนดีขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านเนื้อหาให้จบทุกบทก่อนแล้วจึงเริ่มทำข้อสอบ แต่ให้ประเมินเนื้อหาที่ยังไม่ได้อ่านทบทวนว่าคะแนนเป็นอย่างไรและจะพัฒนาขึ้นหรือไม่หลังจากที่อ่านทบทวนแล้ว จะทำให้เกิดการทำซ้ำและเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนโดยไม่ลืมเนื้อหาของบทแรกๆ ที่ได้อ่านผ่านมาแล้ว
4)  อ่าน PMBOK และ เข้าใจจุดประสงค์ของ Process แต่ละ Knowledge Area
เทคนิคการอ่าน PMBOK คือทำความเข้าใจจุดประสงค์ของ Process แต่ละ Knowledge Area ก่อนว่ามีประโยชน์อย่างไร ทำไปเพื่ออะไร จากนั้นทำความเข้าใจ Input ทั้งหมดว่าทำไมต้องมี Input เหล่านี้ Input เหล่านี้ได้มาจาก Output ของ Process ใด เพราะหลักการของ PMBOK คือ Process ของ แต่ละ Knowledge Area จะมีความสัมพันธ์กันด้วย Input และ Output และนอกจากนั้นจะต้องทำความเข้าใจเครื่องมือที่จะนำมาใช้ของแต่ละ Process ด้วยว่าเครื่องมือชื่ออะไร ใช้อย่างไร และได้ประโยชน์อย่างไร ทำให้เราเกิดการ จำจากความเข้าใจ จะมีผลให้ปริมาณสิ่งที่ต้องจำลดน้อยลง
5)  ทำ Highlight ใจความสำคัญ, Keyword และ Mind Mapping
การทำ Highlight จะช่วยให้เรา review เนื้อหาที่สำคัญๆ ได้เร็วขึ้น เหมาะแก่การใช้ทบทวนในยามว่าง และเมื่อเราอ่านเนื้อหาได้รายละเอียดเพิ่มขึ้น Highlight เพียงไม่กี่บรรทัดจะทำให้เราสามารถอธิบายเนื้อหาใน Area นั้นได้ทั้งหมดอย่างเข้าใจ หลังจากนั้นให้นำความรู้ที่ได้มาสร้างเป็น Mind Mapping จะเกิดการเชื่อมโยงของความรู้ให้มีความสัมพันธ์กันของทุกๆ Knowledge Areas
6)  ฝึกทำโจทย์เยอะๆ และ ทดลองทำข้อสอบเสมือนจริง
การทำโจทย์เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้เพราะการทำโจทย์เสมือนการฝึกปฏิบัติ เราควรทำโจทย์ให้มากๆ จะเห็นและเข้าใจรายละเอียดของเนื้อหาเพิ่มขึ้นได้จากคำถาม ซึ่งบางครั้งเวลาเราอ่านแต่ทฤษฏีจะทำให้เรามองข้ามเนื้อหาไปบางส่วน เนื่องจากข้อสอบ PMP ส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ดังนั้นเราจึงควรมีความเข้าใจในทุกๆประเด็น ทำให้เราเก็บรายละเอียดของเนื้อหาได้เพิ่มขึ้นการวิเคราะห์ของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย และเทคนิคของการดูเฉลยคืออ่านเฉลยให้เข้าใจความหมายจริงๆว่าทำไมถึงเฉลยแบบนี้ พร้อมทั้งเปิดหนังสือ PMBOK ในเนื้อหาของข้อที่เฉลยและอ่านทั้งหมดของ Process ใน Knowledge Area นั้นๆ จะทำให้เข้าใจมากขึ้นและรู้ที่มาที่ไปของคำตอบในข้อนั้นๆ อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของเวลา เราควรฝึกทำข้อสอบให้ได้ 200 ข้อ ในแต่ละครั้งอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดความเคยชินกับปริมาณและเนื้อหาที่มีจำนวนมากของข้อสอบและความเหนื่อยล้าของสมอง ซึ่งมาตรฐานของการสอบของ PMP จะมีข้อสอบทั้งสิ้น 200 ข้อให้เวลา 4 ชั่วโมง แต่ผมฝึกใช้เวลาทำข้อสอบ 200 ข้อใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทำซ้ำไปเรื่อยๆจะทำให้เราเกิดทักษะการทำข้อสอบได้เร็ว อ่านโจทย์ได้ไว และจับประเด็นคำถามได้ชัดเจน ซึ่งเห็นผลมากเมื่อทำข้อสอบจริง ตอนที่ผมสอบนั้นมีเนื้อหาวิเคราะห์เป็นจำนวนมากและโจทย์มีความยาวมากในแต่ละข้อ ทำให้ผมใช้เวลาในการสอบ 200 ข้อเสร็จภายใน 3 ชั้วโมงซึ่งเกินกว่าที่ได้ฝึกไว้ถึง 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว ทำให้ผมเหลือเวลา Review ข้อที่ไม่มั่นใจและกลับมาคิดพิจารณาได้อีกครั้งภายใน 1 ชั่วโมงซึ่งผมคิดว่าเพียงพอสำหรับการ Review ข้อสอบที่ Mark ไว้ทั้งหมด แต่ถ้าเราฝึกทำข้อสอบใช้เวลาเต็ม 4 ชั่วโมงเมื่อวันสอบจริงเราอาจจะทำข้อสอบไม่ทันก็เป็นได้า
7)  พก PMBOK ติดตัว
ควรพกหนังสือ PMBOK ติดตัวไว้ตลอดไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ ทานข้าว หรือนั่งรถ ก็ให้เอาหนังสือมา Review และพยายามถามตัวเองก่อนที่จะอ่านเนื้อหานั้นๆว่า ใช้ทำอะไร ทำเพื่ออะไร จะมี Input และได้ Output อะไร และมี Tools and Techniques อะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ทบทวนบ่อยๆจะเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายๆ Process ที่ Tools and Techniques มีชื่อเหมือนกันแต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน จึงควรเข้าใจรายละเอียดของ Tools and Techniques นั้นๆด้วย
8)  ปรับปรุงประสิทธิภาพ
เนื่องจากเนื้อหาใน PMBOK นั้นมีปริมาณค่อนข้างมากและมักจะลืมเนื้อหาที่ไม่ค่อยได้กล่าวถึง การอ่านเนื้อหาใน PMBOK ใหม่ทั้งหมดใน Knowledge Area ที่เราทำข้อสอบผิดนั้นจะทำให้เราได้ความรู้เพิ่มเติมมากกว่าที่ข้อสอบเฉลย จะเกิดการทบทวนความรู้โดยเน้นในหัวข้อที่เราทำผิดบ่อยที่สุดก่อน ทำให้เราได้ทบทวนเนื้อหาที่เราเข้าใจผิดพลาดหรือเข้าใจไม่ครบถ้วนให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ
9)   ทำสมาธิและดูแลสุขภาพ
เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสุขภาพและการทำสมาธิ เพราะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เราสามารถทำทุกอย่างได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ การนั่งสมาธิมีส่วนช่วยมากในการจดจำและเข้าใจเนื้อหา รวมถึงเมื่อเวลาทำข้อสอบที่ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 4 ชั่วโมงจะทำให้เรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับข้อสอบ ไม่คิดวอกแวกไปเรื่องอื่น และช่วยตัดความกังวลในข้อที่ไม่มั่นใจให้เราจดจ่อความคิดเฉพาะข้อที่กำลังทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ทำให้เราคิดและทำโจทย์ได้รวดเร็วขึ้นมาก ก่อนสอบ 3 วันนั้นเราควรที่จะปล่อยว่าง ทำใจให้สงบโดยทำเพียงแค่ review note ย่อที่ได้ทำไว้เท่านั้นก็เพียงพอเพื่อลดความกดดัน โดยผมนั่งสมาธิอย่างน้อยครั้งละ 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง และเวลาว่างก็อ่าน Review สิ่งที่เตรียมไว้เพียงเท่านั้น จะทำให้สมองเราปล่อยวางและปลอดโปร่ง ลดความวิตกกังวล และก่อนเข้าห้องสอบ ผมก็นั่งสมาธิอีก 10 นาทีก่อนที่จะเดินเข้าห้องสอบ

จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำตาม 9 เทคนิคนี้ ทำให้ผมสามารถสอบผ่าน PMP ได้ในครั้งแรกครับ


Khanthamat Rattanasing, PMP

Project Manager

Rutnin Eye Hospital