การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ในมุมมองของการบริหารโครงการ

"ผมได้มีโอกาสอ่านบทความที่ดีมากๆ บทความหนึ่งที่อธิบายเรื่องการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ในมุมมองของการบริหารโครงการ (Project Management) จากผู้เขียนคือ คุณบุญสน เจนชัยมหกุล ท่านเป็น First Senior Executive Vice President ที่ดูแล Information Technology Group ของธนาคารออมสิน หรือหากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ท่านเป็นผู้บริหารระดับสูงที่เป็นเบอร์หนึ่งด้าน IT ของธนาคารออมสิน และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเองก็ได้มีโอกาสได้พบกับท่านในการประชุมแห่งหนึ่ง หลังจากการประชุมจบลง ผมจึงเข้าไปแนะนำตัวและถือโอกาสขออนุญาตนำบทความดังกล่าวมาเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานกับ Project Manager รุ่นน้องๆ ให้เข้าใจถึงความจำเป็นในทักษะด้านการบริหารโครงการที่มีผลต่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่  และก็ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านให้สามารถนำมาเผยแพร่ได้ ในการนี้กระผมต้องขอขอบคุณ คุณบุญสน เจนชัยมหกุล เป็นอย่างสูง ที่เอื้อเฟื้อในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในมุมมองที่มีคุณค่าและสื่อสารออกมาได้อย่างสนุกและน่าติดตามครับ"

                                                                           อาจารย์  ไพบูลย์ ปัญญายุทธการ (PMP)    
 
 
The Moon
โดย คุณ บุญสน เจนชัยมหกุล
First Senior Executive Vice President
Information Technology Group ธนาคารออมสิน
              เทศกาลไหว้พระจันทร์เพิ่งผ่านพ้นไป มีเพื่อนๆ หลายคนอยากให้ผมเขียนเกี่ยวกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ดวงจันทร์ในฐานะที่เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่คู่กับโลก มิได้มีแค่มิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมาหลายร้อยปี เมื่อทุกคนเฝ้ามองดวงจันทร์ดวงเดียวกันและมีเป้าหมายที่ท้าทายร่วมกันว่าวันหนึ่งจะต้องพิชิตดวงจันทร์ให้ได้
moon, knowledger, The moon, pmp, knowledger, project management, บริหารโครงการ, โครงการ, ความสำเร็จโครงการ
                ในวันที่ 25 พ.ค. 1961 อดีต ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ได้ประกาศในที่ประชุมรัฐสภาว่า เราเลือกแล้วที่จะส่งคนไปพิชิตดวงจันทร์และกลับมาอย่างปลอดภัยให้ได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เป็นคำประกาศกร้าวของภารกิจที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากในขณะนั้นความก้าวหน้าทางวิศวกรรมทำได้เพียงส่งยานอวกาศไปอยู่ในวงโคจรของโลกได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น แต่ในที่สุด อพอลโล 11 ได้ถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าในวันที่ 16 ก.ค. 1969 และประสบความสำเร็จในการส่งคนไปบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก เสร็จสิ้นภารกิจที่ท้าทายมนุษยชาติอย่างยิ่งนี้ก่อนสิ้นทศวรรษจริงๆ   ท่านที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกับผมคงไม่ลืมภาพถ่ายทอดสดผ่านช่องโทรทัศน์ทั่วโลกในวันนั้น

                ความสำเร็จที่ผ่านไปเกือบ 50 ปี แต่ยังถูกยกให้เป็นตัวอย่างของการบริหารโครงการ (Project Management) จากโครงการที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติมีผู้ปฏิบัติในโครงการนี้มากถึง 4 แสนคน ผมขอเพียงยกเอาประเด็นเด่นๆ ของกรณีศึกษานี้ มาเล่าให้ฟัง
                ข้อที่ 1 การสื่อสารข้อมูลอย่างตรงไปตรงมากับผู้มีส่วนได้เสียโครงการอพอลโล เป็นโครงการที่มีเป้าหมายที่ท้าทายทั้งในแง่ของความพร้อมด้านวิศวกรรม และเป้าหมายด้านเวลา โรเบิร์ต จิลรูท ผู้อำนวยการศูนย์ยานอวกาศในขณะนั้น เลือกที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง อย่างตรงไปตรงมากับประธานาธิบดีถึงความพร้อม และทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับความฝัน แล้วก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์คงจะเป็นไปอย่างตึงเครียด โต้เถียงถึงความเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อการประกาศสู่สาธารณะในครั้งนั้นปราศจากแผนงานรองรับอย่างสิ้นเชิง หรืออีกภาพหนึ่งที่มักเห็นจนชินตาคือ ผู้บริหารจะทำการสร้างภาพให้สวยหรู ปิดบังข้อมูลเอาตัวรอดไปวันๆ โดยคาดว่าจะไม่โดนจับได้

                ข้อที่ 2 การวางแผนคือส่วนที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการที่มีความสลับซับซ้อนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะที่ประกาศวาทะอันสะท้านโลกนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และทำอย่างไรเสียด้วยซ้ำ การแบ่งงานออกเป็นแผนย่อย แล้วบริหารจัดการให้บรรลุผลสำเร็จภายใต้งานในแต่ละระยะ (Phase) คือ
(1) บินไปให้ถึงดวงจันทร์
(2) โคจรรอบดวงจันทร์ และ
(3) ลงจอดบนดวงจันทร์
หากว่า การวางแผนทั้งหมดไม่ได้มีการแยกออกเป็นงานในแต่ละระยะที่มีการประเมินผลที่ชัดเจน ประวัติศาสตร์อาจต้องจารึกสิ่งที่แตกต่างไป นอกจากนั้น แทนที่จะทำงานแข่งขันกับเวลาแต่เพียงอย่างเดียว การทุ่มเทมุ่งเน้นการใช้ความคิดไตร่ตรองถึงแผนงาน ได้นำไปสู่การลดความเสี่ยงที่สำคัญ

                ข้อ 3 การบริหารจัดการความเสี่ยง โครงการอพอลโล นับได้ว่าเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จากความผิดพลาดทางเทคนิค จนถึงความผิดพลาดของบุคลากรทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอันเกิดขึ้นได้เสมอ การตั้งคำถาม “หากว่า” (What if ?) เป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อหาคำตอบตลอดเวลา ทำให้มีแผนสำรอง (Plan B) ในทุกขั้นตอน

                ข้อ 4 การสื่อสาร ส่วนต่างๆ ของโครงการมีตั้งแต่ทีมขนาดเล็กไม่กี่คนไปจนถึงบางส่วนงานที่มีบุคลากรหลายพันคนซึ่งไม่เคยพบหรือร่วมงานกันมาก่อน การสื่อสารที่มีความชัดเจนอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งลดข้อผิดพลาดที่อันตราย การสื่อสารที่ดีทำให้ไม่มีการปล่อยให้ทีมงานคนใดตกอยู่ในความมืดมิด โดยไม่รู้ว่าคนอื่นที่เกี่ยวข้องกำลังทำอะไรอยู่

                ข้อ 5 การมอบอำนาจ อาจเป็นการขัดความรู้สึกอย่างยิ่งในการมอบอำนาจให้กับคนที่ไม่มีประสบการณ์ แต่กลายเป็นสิ่งที่โครงการนี้ได้ให้ความสำคัญท่านอาจแปลกใจว่าอายุของทีมปฏิบัติการเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปีเท่านั้น นาซ่าได้ปล่อยให้แต่ละคนจัดการกับปัญหาอย่างอิสระด้วยตัวเอง แล้วผลลัพธ์สุดท้ายก็เป็นคำตอบด้วยตัวของมันเอง

                ข้อ 6 การบันทึกบทเรียนและข้อผิดพลาด ไม่มีใครในทีมงานรู้สึกอับอายกับข้อผิดพลาด การบันทึกและการเรียนรู้เป็นศูนย์กลางของกระบวนการที่บุคลากรในทุกระดับให้ความสำคัญและสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต แทนที่จะคงอยู่กับวัฒนธรรม “ไม่เป็นไร”

                โครงการจะสำเร็จได้ ต้องเกิดจากการบริหารจัดการที่เหมาะสมบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องปราศจากอคติใดๆ มิฉะนั้น โครงการดีๆ อาจพร้อมที่จะพังพินาศลงไปต่อหน้าก็ได้