Servant Leadership ทักษะที่จำเป็นสำหรับ ScrumMaster ในการบริหารโครงการแบบ Scrum

Agile, Agile practice, Agile works, Scrum framework, Agile Value Proposition, Scrum Team Roles, Scrum Simulation, Sprint Backlog, Prioritizing Value Techniques, MoSCoW, ROI, Daily Scrum, Agile Frameworks,  Scrum, Extreme Programming, Kanban, Crystal, การบริหารโครงการแบบ Scrum, Servant Leadership, Scrum Masterแนวคิดการบริหารโครงการแบบ Scrum ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่ง การบริหารแบบ Agile นั้น  ตั้งอยู่บนรากฐานของการทำงานกับทีมงานที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้ (Self-Organizing Team) และทักษะสำคัญประการหนึ่งของคนที่จะทำหน้าที่เป็น ScrumMaster ในโครงการนั้น ก็คือการบริหารจัดการทีมงาน ให้สามารถทำงานให้สำเร็จด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้คนอื่นมาติดตามหรือกำกับดูแล เนื่องด้วยทีมงานของ Scrum ถูกออกแบบมาให้ มีความยืดหยุ่นในการทำงาน และมีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึง ต้องพร้อมที่จะเลือกวิธีการทำงานที่ดีที่สุดด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มผลผลิตของงาน โดยไม่ต้องให้ผู้อื่นมาสั่งการหรือชี้นำ และต้องเป็นทีมงานที่เรียนรู้ข้อผิดพลาดและปรับตัวได้เร็ว รวมถึงสื่อสารกันอย่างเปิดเผย และเปิดโอกาสให้มีการให้และรับข้อเสนอแนะซึ่งกันและกันเพื่อการปรับปรุงพัฒนา ด้วยเหตุนี้ ทักษะที่จำเป็นประการหนึ่งของคนที่จะทำหน้าที่เป็น ScrumMaster คือต้องเป็นผู้นำทีมงานที่มีทักษะการฟังที่ดี ทักษะการโน้มน้าวจูงใจคน ทักษะการอำนวยการ (Facilitation) มากกว่าการสั่งการและควบคุม (Command & Control) รวมถึง ต้องเป็นผู้นำที่เน้นการช่วยเหลือทีมงานให้ทำงานประสบความสำเร็จ ทักษะการนำดังกล่าว คือ Servant Leadershipหรือผู้นำที่เน้นการช่วยเหลือทีมงาน

Servant Leader จะเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของทีมงานมากกว่าเน้นเรื่องบทบาทการนำของตัวผู้นำเองในการทำงานจริงในรูปแบบการบริหารโครงการแบบ Scrumนั้น ScrumMaster จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ กับ Product Owner และ Development Team อยู่เสมอ โดย ScrumMaster จะต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ Product Owner สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานใน Product Backlog ให้มีคุณค่าสูงสุดต่อองค์กร และต้องช่วยในการบริหารจัดการการทำงานตาม Product Backlog ให้มีประสิทธิภาพในทำนองเดียวกัน ScrumMaster ต้องมีส่วนช่วย Development Team ให้สามารถบริหารจัดการงานของตนเองได้  ช่วยกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางงานของ Development Team รวมถึงอำนวยความสะดวกต่างๆ และสร้างแรงจูงใจในการทำงานและจากบทบาทหน้าที่ดังกล่าวของ ScrumMaster ที่มีต่อ Product Owner และ Development Team  ทักษะการเป็นผู้นำแบบ Servant Leader จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการ ในกิจกรรมดังกล่าวต่อไปนี้

1.    ส่งเสริมให้ทีมงาน เห็นเป้าหมายเดียวกันทั้งโครงการ และสร้างความรู้สึกให้ทุกคนรู้คุณค่า และความสำคัญของตนเอง ในการร่วมสร้างผลงานในโครงการ
2.    ช่วยคิดและช่วยตั้งคำถาม ถึง Business Value หรือ Outcome ที่เราต้องการจากสิ่งส่งมอบของโครงการ
3.    ช่วยคิดและนำเสนอไอเดียที่เป็นทางเลือก สำหรับการจัดความสำคัญของงานใน Product Backlog ให้มีคุณค่าสูงสุดต่อองค์กร เพื่อให้ Product Owner ง่ายในการตัดสินใจ
4.    อำนวยการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผนงานในโครงการ และรับฟังปัญหาและข้อจำกัดของทุกคน
5.    อุทิศตนในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่างๆของทีมงาน เพื่อให้ทุกคนทำงานได้บรรลุเป้าหมาย
6.    ให้กำลังใจทีมงาน และสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีมเวิร์คที่ดี
7.    ยอมรับข้อแตกต่างของแต่ละบุคคลในทีมงาน และแสดงความใจกว้างในการปรับตัวเข้าหาคนอื่น
8.    ทุ่มเทและลงรายละเอียดกับงาน และเน้นการร่วมลงมือทำด้วยกันกับทีมงาน มากกว่าการสั่งการและควบคุม..

ดังนั้น หากต้องการจะเริ่มนำวิธีการบริหารโครงการแบบ Agile ไปใช้ในองค์กร การสร้างวัฒนธรรมการเป็นผู้นำแบบ Servant Leader จึงถือเป็นปัจจัยความสำเร็จขั้นแรก และถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับท่านที่จะมาบริหารทีมงาน Agile หรือท่านที่จะทำหน้าที่เป็น ScrumMaster และ วัฒนธรรมการเป็นผู้นำแบบ Servant Leader นั้น ก็ต้องเริ่มต้น ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทำให้เป็นตัวอย่าง จึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรได้

อาจารย์ อรินทรา ปัญญายุทธการ
Project Management Professional (PMP)
Microsoft Certified Technical Specialist (MS Project) (MCTS)
PMI-Agile Certified Practitioner (PMI-ACP)
Certified ScrumMaster (CSM)
Certified Scrum Product Owner (CSPO)
Large-Scale Scrum Practitioner (LeSS)
Certified Software Quality Analyst (CSQA)
Certified Software Tester (CSTE)
Certified Software Project Manager (CSPM)