การบริหารโครงการสำคัญอย่างไร

เนื่องจากในภาวะการแข่งขันของธุรกิจปัจจุบัน เป็นไปอย่างรุนแรง รวดเร็วและแข่งขันกับเวลา องค์กรมีการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา เพื่อแย่งชิงกันสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจเช่น การออกผลิตภัณฑ์และแผนการตลาดใหม่ การปรับปรุงกระบวนการทำงาน การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งในปัจจุบันวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ต่างๆ สั้นลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนยุ่งยากในการผลิตมากขึ้น และต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการตลาดแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้การทำงานในองค์กรต่างๆ มีลักษณะการทำงานแบบเป็นโครงการมากขึ้น มีโครงการเล็กและใหญ่เกิดขึ้นมากมายในองค์กร มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ กรอบเวลาการดำเนินการและงบประมาณ มีการวัดผลการดำเนินงานของบุคคลจากผลสำเร็จของงาน ทำให้การทำงานในลักษณะของโครงการมีความแพร่หลายมากขึ้น  
            ลักษณะที่สำคัญของโครงการ คือ มีระยะเวลาที่แน่นอน และมีลักษณะเฉพาะตัว เนื่องจากโครงการแต่ละโครงการมีปัจจัยที่แตกต่างกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ลูกค้า ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ ไม่มีโครงการใดๆ ที่จะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการได้ ด้วยความมีลักษณะเฉพาะตัวของการทำโครงการ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถคาดเดาหรือกะเกณฑ์การทำโครงการได้ทุกอย่าง ยิ่งหากเป็นโครงการในอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีความไม่แน่นอนสูง ก็ยิ่งเป็นการยากที่จะจัดการโครงการให้ประสบความสำเร็จได้
 
            โดยส่วนใหญ่ โครงการในปัจจุบัน เป็นโครงการที่มีลักษณะของความไม่แน่นอนสูง ความต้องการของระบบอาจไม่ชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวได้มาก ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นหมายถึงเงิน เวลาและทรัพยากรที่ต้องสูญเสียไป ความจำเป็นในการมีโครงการมากมายในองค์กร จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับองค์กรมากขึ้นหากองค์กรไม่มีกระบวนการและระบบการจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพ จากสถิติการล้มเหลวของโครงการทางด้าน IT ในอเมริกาซึ่งสำรวจโดย Standish Group พบว่า ในปี 2012 โครงการ ที่ประสบความสำเร็จมีเพียง 29% หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น อีก 71% หรือ 2 ใน 3 คือโครงการที่ล้มเหลว หรือต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากกว่าที่ได้วางแผนไว้
 
            การบริหารโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตั้งไว้ เพื่อทำให้โครงการเป็นส่วนที่เสริมแผนกลยุทธ์ขององค์กรและพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ


 
                                                             อรินทรา ปัญญายุทธการ (PMP)