เส้นทางสู่การเป็นผู้จัดการโครงการมืออาชีพ 

Project Manager หรือผู้จัดการโครงการ คือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ วางแผนงาน มอบหมายงาน ผลักดัน ควบคุม ติดตามผลและแก้ไขปัญหาต่างๆในโครงการ รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในโครงการ แต่ความแตกต่างระหว่าง ผู้จัดการโครงการทั่วไปกับผู้จัดการโครงการมืออาชีพนั้น แตกต่างกันด้วยองค์ประกอบหลักๆ 3 ประการคือ
1.    แตกต่างกันในองค์ความรู้ที่ใช้ในการบริหารโครงการ
2.    แตกต่างกันในทักษะที่ใช้ในการบริหารโครงการ
3.    แตกต่างกันในทัศนคติในการบริหารโครงการ
สาเหตุที่ผู้จัดการโครงการไม่สามารถบริหารโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายได้นั้น มาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ผู้จัดการโครงการขาดองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการบริหารโครงการ เนื่องจากพัฒนาสายอาชีพของตนเองมาจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการตั้งแต่เริ่มต้น มีความเข้าใจในบริบทขององค์กรและโครงการไม่เพียงพอ หรือต้องบริหารโครงการที่มีความคาดหวังสูงแต่ทรัพยากรจำกัด เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้มักจะพบได้บ่อยครั้งในสภาวะการณ์ทำงานในปัจจุบัน ยิ่งองค์กรมีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้เป็นแบบ Project Based มากขึ้น เรายิ่งพบเห็นจำนวนโครงการที่ล้มเหลวมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งในปัจจุบันองค์กรหลายแห่ง เริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้จัดการโครงการมืออาชีพ ด้วยความหวังที่จะลดความเสียหายขององค์กร อันมีสาเหตุมาจากโครงการที่ล้มเหลว
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการลดอัตราความล้มเหลวของโครงการและเพิ่มความมั่นใจให้กับองค์กร เพื่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็คือการสร้างผู้จัดการโครงการมืออาชีพ หรือ Professional Project Manager ซึ่งมีแนวทางอย่างพอสังเขปดังนี้ 

ติวสอบ PMP,อบรม Project Management,PM Training,อบรมบริหารโครงการ,สอบ PMP,PMP Exam,project management training1.   พัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเป็น Project Manager มืออาชีพ
การจัดฝึกอบรมความรู้ด้านการบริหารโครงการ ให้กับ Project Manager ภายในบริษัท เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ง่าย และเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นลำดับแรก ไม่ว่าจะเป็นการส่ง Project Manager ไปอบรมกับศูนย์ฝึกอบรมภายนอก หรือจัดฝึกอบรมโดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายที่บริษัท โดยองค์ความรู้ที่ควรอบรม สามารถแบ่งได้เป็น องค์ความรู้ในการบริหารจัดการทั้ง 9 ด้านที่จำเป็นในการบริหารโครงการ ได้แก่ การบริหารขอบเขตงาน การบริหารต้นทุน การบริหารเวลา การบริหารคุณภาพ บริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารการสื่อสาร การบริหารความเสี่ยง การบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารโครงการอย่างบูรณาการ  

2.   พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการนำเครื่องมือในการบริหารโครงการไปประยุกต์ใช้งานจริงหลายๆองค์กรหยุดการพัฒนาไว้เพียงแค่การจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับ Project Manager โดยเข้าใจว่าการจัดฝึกอบรมนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการสร้างทักษะที่ดีในการบริหารโครงการ แต่บ่อยครั้งที่ Project Manager ละเลยที่จะนำเครื่องมือที่เรียนรู้ มาประยุกต์ใช้งานจริงในการบริหารโครงการ ทำให้ขาดทักษะในการบริหาร แม้จะองค์ความรู้ครบถ้วนก็ตาม การสร้างทักษะนั้น ต้องอาศัยการฝึกฝน ทำซ้ำ ทบทวนและปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทองค์กร จึงจะสามารถพัฒนาทักษะได้อย่างแท้จริง

3.   พัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร และ Soft Skills ที่จำเป็นทักษะผู้จัดการโครงการ,PMBOK,PMI,ทักษะบริหารโครงการ,PM training
การบริหารโครงการ หรือ Project Management ถือเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหาร หรือผู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร ดังนั้นทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น จำเป็นต้องดีเลิศ โดยทักษะเหล่านี้ ได้แก่ ทักษะการสร้างทีมงาน ทักษะการนำเสนอ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการจัดการข้อขัดแย้ง ทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ทักษะการเป็นผู้นำและทักษะการต่อรอง เป็นต้น  ทักษะดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาได้จากการเรียนเชิงทฤษฏีเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยการปฏิบัติ การทำซ้ำ การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

4.   สร้างทัศนคติที่ดีในการทำงาน
การบริหารโครงการเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้คนหลายหลายความเชี่ยวชาญ หลากหลายวิธีคิด และหลากหลายความคาดหวัง การบริหารโครงการจึงต้องอาศัยทัศนคติที่เป็นบวกในการทำงาน เช่น การยอมรับในความแตกต่างของคน การมองโลกแง่บวก การมองปัญหาและอุปสรรคในเชิงโอกาส การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง การสร้างมิตรภาพ และการสร้างเป้าหมายร่วมกัน เป็นต้น 

5.   ฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
องค์ความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เป็นเลิศนั้น เป็นสภาวะที่เป็นจริงในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว   Project Manager จำเป็นต้องหาความรู้ และฝึกฝนทักษะในตนเองอยู่ตลอดเวลาให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

            แนวทางทั้ง 5 ประการข้างต้นนั้น ให้ความสนใจในปัจจัยเรื่องการพัฒนาที่ตัวคนที่เป็น Project Manager เป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่ว่าความสำเร็จของโครงการนั้น มาจากปัจจัยสำคัญคือความสามารถของ Project Manager แต่ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการ ไม่น้อยไปกว่าความสามารถของ Project Manager นั่นก็คือ ระดับความสามารถขององค์กรในการบริหารโครงการ หรือ Organizational Maturity Levels ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความถัดไป
 
 
 
                                       อรินทรา ปัญญายุทธการ (PMP)