การวางกลยุทธ์ด้าน IT เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์องค์กร
ทำไมต้องมีการวางกลยุทธ์ด้าน IT
ทุกองค์กรจะมีการวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการทางธุรกิจที่เรียกว่า Corporate Strategy ที่ระบุเป้าหมายและทิศทางในการดำเนินการ หน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งขององค์กรจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจในแผนกลยุทธ์ขององค์กรอย่างชัดเจน และต้องสามารถวางแผนกลยุทธ์ของ IT ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับแผนและความต้องการขององค์กร รวมทั้งได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนด้าน IT เพื่อสร้างความได้เปรียบเทียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) จึงจะสามารถช่วยผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามแผนที่ตั้งไว้
บทบาทของ CIO ในการวางกลยุทธ์ด้าน IT
CIO ต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการของกลยุทธ์องค์กร เพื่อนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ด้าน IT ทั้งนี้ CIO ต้องมีความเข้าใจในการนำเครื่องมือที่เหมาะสมมาวิเคราะห์และนำผลลัพธ์มาสร้างแผนงานด้าน IT ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การวิเคราะห์ SWOT การวิเคราะห์ Balance Score Card หรือ การวิเคราะห์ Five Forces เป็นต้น แผนกลยุทธ์ด้าน IT ที่ถูกต้องและสมบูรณ์จะช่วยองค์กรปิดจุดอ่อน และเสริมจุดแข็ง เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์และบริการ นอกจากนี้แผนกลยุทธ์ด้าน IT ต้องครอบคลุมถึงการพัฒนาบุคลากร กระบวนการทำงาน และการใช้เทคโนโลยี ภายในหน่วยงาน IT เองด้วย เพื่อสร้างความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจขององค์กร
ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี
เพื่อให้การวางแผนกลยุทธ์ด้าน IT เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย คุ้มค่ากับการลงทุน และสามารถวัดผลการดำเนินการได้ ในการวางแผนฯจะต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1. สอดคล้องและสนับสนุนกลยุทธ์องค์กรในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะความสามารถของบุคลากร กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้งานได้อย่างเหมาะสม
2. มีความชัดเจนในเรื่องคุณค่า ที่ส่งมอบให้องค์กร หรือ Outcome ที่องค์กรได้รับจากแผนงาน IT ในประเด็นนี้ สามารถวิเคราะห์แยกย่อยได้ดังนี้
2.1 สนับสนุนการทำงานทั่วไปในองค์กร ให้สะดวก รวดเร็ว ถูกต้องและมีความปลอดภัย
2.2 สามารถสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่ในองค์กร และส่งเสริมให้องค์กรเกิดรายได้จากธุรกิจใหม่
2.3 สนับสนุนให้องค์กร มีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจเดิมได้ดีขึ้น หรือสร้างให้ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น
2.4 ช่วยองค์กรในการลดงานที่ไม่จำเป็น ลดต้นทุนการดำเนินงาน
2.5 สร้างนวัตรกรรมใหม่ๆให้องค์กร
2.6 สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร
2.7 เพิ่มผลผลิตให้องค์กร
2.8 ช่วยลดความเสี่ยงให้องค์กร
3. การลงทุนด้าน IT ขององค์กร มีการวางแผนและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม
4. พิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร ในการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน โดยมีการประเมินความเสี่ยง และกำหนดแผนรองรับเพื่อจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ เหตุเนื่องมาจาก องค์กรพึ่งพิงระบบ IT เป็นเครื่องมือสำคัญ หากระบบ IT อยู่ในภาวะเสี่ยง ก็ย่อมส่งผลให้องค์กรอยู่ในภาวะเสี่ยงตามไปด้วย
5. สามารถกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จได้ และมีกระบวนการในการติดตาม วัดผลตัวชี้วัดความสำเร็จ ให้สอดคล้องกับความสำเร็จที่องค์กรคาดหวัง
จาก 5 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า CIO จำเป็นต้องมีทักษะหลายด้าน ในการวางกลยุทธ์ด้าน IT เช่น ทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านการวิเคราะห์และเข้าใจกลยุทธ์เชิงธุรกิจขององค์กร ทักษะการบริหารความเสี่ยง ทักษะการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน ทักษะด้านการเงินเพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุนด้าน IT รวมถึงทักษะในการสร้างทีมงาน การสื่อสาร และจูงใจให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่า ความสำเร็จของกลยุทธ์ด้าน IT จะสามารถสนันสนุนให้เกิดความสำเร็จต่อกลยุทธ์องค์กร
อาจารย์ อุบลลักษณ์ ลือวรวิญญู
อดีต EVP Head of Application Solution &
Head of Enterprise Architecture Management & IT Strategy
TMB Bank PCL 2547-2559 Auditor)
|