แนวทางการสร้าง Competency เพื่อการเป็นผู้จัดการโครงการมืออาชีพ
ตอนที่ 1 : Sense of Accountability

              Professional Project Manager หรือผู้จัดการโครงการมืออาชีพ นอกจากจะต้องมีองค์ความรู้ที่ครบถ้วนถูกต้อง และทักษะอันเป็นเลิศในการบริหารโครงการแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการ คือการสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงาน เนื่องจากการบริหารโครงการเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ผู้คนหลากหลายบทบาทหน้าที่ หลากหลายความเชี่ยวชาญ หลากหลายวิธีคิด และหลายหลายความคาดหวัง การบริหารโครงการ จึงต้องอาศัยทัศนคติที่เป็นบวกในการทำงาน  ทัศนคติในการเข้าใจบทบาทหน้าที่ของงาน เป็นทัศนคติที่มีความสำคัญอย่างมาก อ้างอิงถึงเครื่องมือตัวหนึ่งที่ Project Management Body Of Knowledge (PMBOK) ในองค์ความรู้เรื่อง Project Human Resource Management นั่นคือ ตารางการมอบหมายความรับผิดชอบในกิจกรรมต่างๆ ให้ทีมงานในโครงการ หรือ Responsibility Assignment Matrix (RAM) เครื่องมือดังกล่าว มุ่งเน้นการกำหนด ผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม โดยแบ่งบทบาทของการรับผิดชอบ เป็น ผู้ที่มีหน้าที่ Responsibility และ ผู้ที่มีหน้าที่ Accountability โดยความแตกต่างระหว่าง Responsibility และ Accountability นั้น PMBOK อธิบายไว้ดังนี้

               Responsibility หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน โดยการลงมือทำ
               Accountability หมายถึง บุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบผลของการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเกิดจากการลงมือทำของตนเอง หรือของผู้อื่นก็ตาม

               ความรู้สึกรับผิดชอบในผลของการปฏิบัติงาน หรือ Sense of Accountability นั้น ถือเป็นทัศนคติที่สำคัญสำหรับ Project Manager และทีมงานทุกคน  โดยในภาพที่ใหญ่ขึ้น Project Manager ถือเป็นคนที่ต้องมี Sense of Accountability ของทุกๆเรื่องที่เกิดขึ้นในโครงการของตนเอง ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ได้ลงมือทำในทุกๆเรื่อง แต่ผลของการปฏิบัติงานในโครงการ ต้องเป็นความรับผิดชอบของ Project Manager โดยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะเหตุนี้ Project Manager จึงจำเป็นต้องมีความรู้และมีอำนาจตัดสินใจในโครงการของตนเอง เพื่อมอบหมาย ติดตาม กำกับดูแล และควบคุมงานในโครงการของตนเอง ให้สำเร็จลุล่วง หาก Project Manager ขาดซึ่ง Sense of Accountability จะมีพฤติกรรมหรือวิธีปฏิบัติที่เราพบได้โดยทั่วไปดังนี้

1. โยนความผิดให้ลูกน้อง หรือ Vendor หรือทีมงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่ในการลงมือปฏิบัติงานในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในโครงการของตนเอง เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น
2. มุ่งเน้นการอธิบายหรือชี้แจงต่อ Senior Management ถึงข้อจำกัดต่างๆของทีมปฏิบัติงาน เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นในโครงการ
3. ยอมรับข้อจำกัดในการทำงานของผู้อื่น อันเป็นสาเหตุทำให้งานในโครงการผิดพลาด โดยไม่สืบค้นสาเหตุของปัญหาและไม่กำหนดแนวทางแก้ไข เนื่องจากเข้าใจว่าไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของตนเอง

        Project Manager มืออาชีพ ที่มี Sense of Accountability จะเน้นเรื่องควบคุม ติดตาม และป้องกันปัญหา ในโครงการ ก่อนที่ปัญหาจะเกิด ทั้งในส่วนที่เป็นงานที่ลงมือทำเองและส่วนที่ต้องลงมือทำโดยผู้อื่น เนื่องจากทัศนคติที่เข้าใจถึงความรับผิดชอบในผลการปฏิบัติงานทุกเรื่อง ทุกกิจกรรม ในโครงการของตนเอง และจะสนใจในการค้นหาสาเหตุของปัญหา ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติงานของทั้งตนเองและผู้อื่น เพื่อควบคุมสาเหตุของปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ การมี Sense of Accountability นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในบางครั้ง เนื่องจากทีมงานผู้ที่มีหน้าที่ลงมือปฏิบัติงานในโครงการ บางครั้งไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมสั่งการของผู้จัดการโครงการ เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นเหตุส่งเสริมให้ ผู้จัดการโครงการด้อยประสิทธิภาพ  ใช้เป็นเหตุในการชี้แจงกับ Senior Management ถึงข้อจำกัดในการทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถรับผิดชอบผลของการปฏิบัติงานในโครงการของตนเองได้ แต่หากผู้จัดการโครงการมืออาชีพ จะมีมุมมองและวิธีปฏิบัติต่อปัญหาดังกล่าวที่แตกต่างออกไป ผู้จัดการโครงการมืออาชีพจะมองหาวิธีการใหม่ๆ ในการควบคุม บริหารจัดการผู้ปฏิบัติเหล่านั้น นอกเหนือไปจากวิธีการสั่งการตามปกติ เช่น เทคนิคการสร้างเป้าหมายร่วมกัน  การโน้มน้าวชักจูงใจให้เห็นผลเสียของการปฏิบัติงานผิดพลาด  การสืบค้นถึงต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้งานผิดพลาดและหาวิธีการสนับสนุนเพื่อแก้ไขที่สาเหตุ  การร้องขออำนาจอย่างเป็นทางการในการควบคุมและสั่งการทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือแม้กระทั่งการหาทางเลือกในการเปลี่ยนทีมงานผู้ปฏิบัติ เป็นต้น  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการที่ผู้จัดการโครงการมืออาชีพสามารถคิดวิเคราะห์และปฏิบัติได้ เพื่อให้งานในโครงการของตนเองมีผลการปฏิบัติงานที่ดี ถึงแม้จะไม่มีอำนาจสั่งการในมืออย่างเต็มรูปแบบก็ตาม 

          การมี Sense of Accountability นอกจากจะทำให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวผู้จัดการโครงการเอง ในมุมมองของคนรอบข้างและมุมมองของ Senior Management และลูกค้าผู้ใช้งานอีกด้วย ผู้จัดการโครงการที่ฉลาด นอกจากจะต้องมี Sense of Accountability ในงานต่างๆในโครงการของตนเองแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการสร้าง Sense of Accountability ให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในทีมและผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อให้เกิดการร่วมมือและช่วยกันปฏิบัติงานให้โครงการประสบความสำเร็จ


                                                                                    ไพบูลย์ ปัญญายุทธการ (PMP)