การสร้างวัฒนธรรม Self Organizing Team สิ่งจำเป็นสำหรับการบริหารโครงการแบบ Agile

Agile, Agile practice, Agile works, Scrum Team Roles, การบริหารโครงการแบบ Scrumการบริหารโครงการแบบ Scrum ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารแบบ Agile นั้น  ตั้งอยู่บนรากฐานของการทำงานกับทีมงานที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้ (Self-Organizing Team) ทีมงานมีสิทธิในการกำหนดกิจกรรม และแผนงานในโครงการด้วยตัวเอง รวมถึงสามารถกำหนดวิธีการทำงานด้วยตัวเองได้ โดย ScrumMaster จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) การสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบบริหารจัดการตนเองได้ (Self-Organizing Team) จึงเป็นปัจจัยความสำเร็จประการสำคัญในการนำการบริหารโครงการแบบ Scrum มาใช้งาน

Self-Organizing Team หรือ บางครั้งจะใช้คำว่า Autonomous Team หรือ Empowered Team ต้องการการมีส่วนร่วมของแต่ละคนในทีมอย่างมาก และต้องสร้างให้ทีมงานทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงต้องการทีมงานที่มีความรับผิดชอบอย่างสูง และมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าลองสิ่งใหม่ๆ  ใจกว้างในการให้และรับ Feedback ต่อกันและกัน และเน้นที่การปรับปรุงแก้ไขมากกว่าการกล่าวโทษกันไปมาสิ่งท้าทายสำหรับ ScrumMaster ที่ต้องทำงานกับทีมในบรรยากาศ Self-Organizing ซึ่งดูเหมือนจะไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ แต่แท้จริงแล้ว ScrumMaster ต้องทำหน้าที่เป็น Coach และ Facilitator ที่คอยอำนวยการ และกำหนดจุด Checkpoint ต่างๆในโครงการ เป็นกรอบกว้างๆ ให้ทีมงานเห็นเป้าหมายเดียวกันเพื่อป้องกันการสับสน และต้องช่วยเหลือทีมงาน และสร้างแรงจูงใจให้ทีมงานทำงานได้บรรลุเป้าหมาย ด้วยวิธีการของทีมงานเองกิจกรรมที่ ScrumMaster ควรต้องทำเพื่อสร้างให้เกิดการทำงานแบบ Self-Organizing Team ในโครงการ พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้

1.    เริ่มต้นจากการปรับมุมมองของตนเอง ต่อทีมงานในโครงการ โดยเน้นที่การมองจุดเด่น และจุดแข็งของแต่ละคนในทีมงาน และสื่อสารอย่างจริงใจให้ทีมงานทราบถึงคุณค่าของเขาต่องานในโครงการ
2.    รับฟังความคิดเห็นของทีมงาน เพื่อให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของการส่งมอบงานในโครงการ เช่น จะส่งงานภายในระยะเวลาใด และสิ่งส่งมอบจะถูกตรวจสอบคุณภาพด้วยเงื่อนไขใด โดยกำหนดเป็นเป้าหมาย หรือ Checkpoint กว้างๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกันและต้องสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และสร้างคุณค่าให้องค์กร
3.    ให้อำนาจกับทีมงาน ในการกำหนดวิธีการทำงานให้บรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง เช่น ทีมงานสามารถ วางแผนงาน และกำหนดกิจกรรมต่างๆในโครงการ ในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ ด้วยตนเองได้
4.    ศึกษาแผนงานต่างๆ ที่ทีมงานกำหนดมาให้โดยละเอียด และทำหน้าที่เป็น  Coach เพื่อปิดจุดอ่อนของแผนงานต่างๆของทีมงาน โดยการตั้งคำถาม เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่างๆให้ทีมงานคิดด้วยตัวเอง มากกว่าจะสั่งการให้ทีมงานปฏิบัติตาม
5.    ทำหน้าที่เป็น Facilitator อำนวยการให้ทีมงานทุกฝ่ายงาน นำแผนงานของตนเองมาประสานกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจงานในภาพรวมเป็นภาพเดียวกัน
6.    ติดตามการทำงานโดยใช้การประชุม Daily Stand-ups หรือ Daily Scrum โดยเปิดโอกาสให้ทีมงาน รายงานกิจกรรมที่ทำไปแล้ว และปัญหาอุปสรรคที่พบ รวมถึง สิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป แต่ต้องใช้เวลาสั้นและกระชับ (ไม่เกิน 15 นาที) เพื่อไม่รบกวนการทำงานของทีมงาน
7.    ส่งเสริมให้ทีมงาน สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการประสานงานที่ดี
8.    ต้องพูดคุย สังเกต และสื่อสารกับทีมงานอยู่เสมอ และในกรณีที่ทีมงานพบอุปสรรคในการทำงาน ต้องช่วยแก้ไข และอำนวยการ เพื่อให้ทีมงานทำงานของตนเองได้บรรลุเป้าหมาย
9.    สื่อสารกับทีมงานอย่างเป็นกันเอง และแสดงออกถึงความเป็นมิตร และรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของทีมงานอย่างตั้งใจ จริงใจ และเข้าใจ
10.    สร้างแรงจูงใจให้ทีมงาน ทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน และพร้อมจะปรับปรุงแผนให้ดีขึ้น เมื่อผ่านการเรียนรู้จากการทำ Sprint Retrospectiveโดยเน้นที่การแก้ไข และไม่เน้นเรื่องการกล่าวโทษกัน

เทคนิคการทำงานดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่ ScrumMaster ต้องเรียนรู้และฝึกฝน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานแบบ Self-Organizing Team เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

อาจารย์ อรินทรา ปัญญายุทธการ
Project Management Professional (PMP)
Microsoft Certified Technical Specialist (MS Project) (MCTS)
PMI-Agile Certified Practitioner (PMI-ACP)
Certified ScrumMaster (CSM)
Certified Scrum Product Owner (CSPO)
Large-Scale Scrum Practitioner (LeSS)
Certified Software Quality Analyst (CSQA)
Certified Software Tester (CSTE)
Certified Software Project Manager (CSPM)